ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริตในการรถไฟแห่งประเทศไทย (ศปท.รฟท.)

ความเป็นมาของการจัดตั้ง ศปท.รฟท.


          การรถไฟฯ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จำนวน ๕๕ แห่ง ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๗ โดยตกลงให้ความร่วมมือ สนับสนุน ร่วมกันขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดมาตรการ แนวทางดำเนินการรวมทั้งกำกับติดตาม เพื่อลดและขจัดปัญหาการทุจริตให้บรรลุตามเป้าหมาย

          ซึ่งการจัดตั้งคณะกรรมการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริตการรถไฟ (ศปท.รฟท.) เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐ เป็นหนึ่งในการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดยหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของ ศปท.รฟท. คือการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริต

 

ทุจริต  หมายความว่า "ประพฤติชั่ว คดโกง ไม่ซื่อตรง" ทุจริตต่อหน้าที่

          หมายความว่า "ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้นหรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบ สำหรับตนเองหรือผู้อื่น (พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4)"

 

รูปแบบการทุจริต

(๑) ฝ่าฝืน หลีกเลี่ยง หรือบิดเบือน ระเบียบแบบแผน หรือกฎข้อบังคับ 
(๒) จูงใจ เรียกร้อง ข่มขู่ หน่วงเหนี่ยวหรือกลั่นแกล้ง เพื่อหาประโยชน์ใส่ตน หรือพวกพ้อง 
(๓) สมยอม รู้เห็นเป็นใจ เพิกเฉย หรือละเว้นการกระทำในการที่ต้องปฏิบัติ หรือ รับผิดชอบตามหน้าที่ 
(๔) ยักยอก เบียดบังซึ่งทรัพย์สินของทางราชการ 
(๕) ปลอมแปลง หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นเท็จ 
(๖) มีผลประโยชน์ร่วมในกิจการบางประเภทที่สามารถใช้อำนาจหน้าที่ ของตนบันดาลประโยชน์ได้ (ผลประโยชน์ทับซ้อน) 
(๗) การสมยอมเสนอราคา หรือการฮั้ว